Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 68 กำไร 1,643 ล. ลดลง 5.2%

กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 68 กำไร 1,643 ล. ลดลง 5.2%
1
เขียนโดย intrend online 2025-04-17

กลุ่มทิสโก้ เผยผลประกอบการไตรมาส 1/2568 กำไรสุทธิ 1,643 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากปีก่อน สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ขณะที่สถานะการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยกลุ่มทิสโก้ และ ธนาคารทิสโก้ ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรจาก ทริสเรทติ้ง เป็นระดับ “A” และ “A+” ตามลำดับ

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 เผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และเหตุแผ่นดินไหวที่สร้างความตื่นตระหนกและกระทบต่อความเชื่อมั่น กดดันภาคเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้อ่อนแอลงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความเสี่ยงใหม่จากมาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2568 ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะยังมีความท้าทายสูง คาดการณ์ว่า จะเติบโตเพียง 1.5-2% โดยขึ้นอยู่กับผลของการเจรจาต่อรองอัตราภาษีกับสหรัฐฯ และผลกระทบข้างเคียงในภูมิภาค

ผลกระทบจากเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 ของกลุ่มทิสโก้ ปรับตัวลดลง 5.2% จากไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 1,643 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง สอดรับกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยลง ด้านตลาดรถยนต์ในประเทศยังคงซบเซา ยอดขายรถยนต์ใหม่ในไตรมาสแรกลดลงเกือบ 10% ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก แม้ว่าทิสโก้จะสามารถเพิ่ม Penetration Rate ได้ จากการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงค่าธรรมเนียมธุรกิจประกันภัยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ได้เพิ่มระดับการตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญมาอยู่ที่ 0.7% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Loans) และความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ด้านธุรกิจค่าธรรมเนียม ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในภาวะตลาดทุนผันผวน พร้อมครองตำแหน่งผู้นำในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สะท้อนความไว้วางใจที่แข็งแกร่งจากลูกค้า นอกจากนี้ ธุรกิจหลักทรัพย์ยังสามารถขยายส่วนแบ่งทางการตลาดได้ แม้ในภาวะที่ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง

“กลุ่มทิสโก้ จะมุ่งเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยยึดมั่นในหลักการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และการนำเทคโนโลยีมายกระดับผลิตภัณฑ์และบริการ พร้อมการติดตามดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางอย่างใกล้ชิด โดยให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดและรวดเร็วผ่านโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (Pre-emptive Debt Restructuring) ของกลุ่มทิสโก้ ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าขยายบริการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนเคียงข้างไปกับลูกค้า ทั้งในภาวะปกติและช่วงเวลาวิกฤต” นายศักดิ์ชัย กล่าว

ล่าสุด บริษัท ทริสเรทติ้ง ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จากเดิมที่ “A-” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิตที่ระดับ “คงที่” (Stable) รวมถึงปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A+” จากเดิม “A” ด้วยแนวโน้ม “คงที่” เช่นกัน สะท้อนถึงพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่มทิสโก้ จากความสามารถในการทำกำไรที่มั่นคง ความยืดหยุ่นในการให้บริการสินเชื่อรายย่อย ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตลาด การดำเนินกลยุทธ์อย่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งรองรับต่อความเสี่ยงรอบด้าน

สรุปผลประกอบการสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2568


ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,643 ล้านบาท ลดลง 5.2% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2567 สาเหตุมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง 2.0% เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อสอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับกลุ่มทิสโก้ให้การช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และลดภาระดอกเบี้ยบางส่วนให้แก่ลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.7% ของสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง (High Yield Loans) ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.4% จากการเติบโตของธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ 10.3% โดยบลจ.ทิสโก้ มีการออกกองทุนรวมใหม่ 7 กองในระหว่างไตรมาส ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 3.3% จากส่วนแบ่งทางการตลาดของบล.ทิสโก้ ที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้ง กำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์ในประเทศที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้รายได้ค่านายหน้าประกันภัยอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกัน ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลง 0.9% จากการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 15.0%

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 มีจำนวน 231,190 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากสิ้นปี 2567 สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่และสินเชื่อ SME ที่ลดลงตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ชะลอตัว ประกอบกับการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนในสภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามแผนการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนในระดับสูง โดยกลุ่มทิสโก้ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างระมัดระวัง พร้อมด้วยดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ทั้งนี้ ระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 153.8%

ธนาคารทิสโก้ ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.7% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.9% และ 1.8% ตามลำดับ