Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

SCB CIO ชี้ 3 ปัจจัยกระทบตลาดการเงินฉุดสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวน

SCB CIO ชี้ 3 ปัจจัยกระทบตลาดการเงินฉุดสินทรัพย์ทั่วโลกผันผวน
1
เขียนโดย intrend online 2025-04-25

แนะระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มน้ำหนักหุ้นกู้ระยะสั้นคุณภาพดี และ ทองคำ

SCB CIO มองความไม่แน่นอนของสงครามการค้ายังมีแนวโน้มอยู่สูงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ส่งผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก และความผันผวนในตลาดการเงิน โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่กระทบต่อการลงทุน ได้แก่ 1) นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหรืออาจถดถอยจากสงครามการค้า 2) สหรัฐฯ เผยความคืบหน้ามาตรการทางการคลัง แต่อาจไม่สามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มาจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าได้ และ 3) กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในปี 2568 เสี่ยงถูกปรับประมาณการลดลง แนะนำ ลงทุนหุ้นกู้คุณภาพดีระยะสั้น-กลาง และทองคำ ลดความผันผวนของพอร์ต หรือกองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้

นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Wealth & Investment Product กลุ่มธุรกิจ Consumer Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO ได้แลกเปลี่ยนมุมมองการลงทุนกับ BlackRock ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก โดยมองว่า ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการลงทุน ได้แก่ ปัจจัยแรก คือ การประกาศเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ ที่แข็งกร้าวกว่าคาด ในเดือน เม.ย. ทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้นว่า สหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจชะลอตัว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูง หรืออาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ หากมีการตอบโต้รุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจ และสร้างความผันผวนให้กับการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก

“ความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal Tariff) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรอง แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศทุกสินค้า 10% (Universal Tariffs) ยกเว้น เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะ (Specific Tariffs) ที่ 25% ไปก่อนแล้ว รวมทั้ง ปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเหล็ก อะลูมิเนียม และสินค้ายานยนต์จากคู่ค้าทุกประเทศที่ 25% พร้อมทั้ง ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนรวมทั้งสิ้น 145% ท่ามกลางการตอบโต้กลับที่รุนแรงจากจีน นำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบระหว่างสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนที่จะขึ้นภาษีเฉพาะบางสินค้าเพิ่มเติม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ สินค้าเกษตร และเวชภัณฑ์ ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้การลงทุนยังมีแนวโน้มผันผวน กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ และสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ในระยะสั้น” นายศรชัย กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของมุมมองการลงทุนของ BlackRock หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) พบว่า BlackRock ได้ปรับลดกรอบการลงทุนเชิงกลยุทธ์ เหลือ 3 เดือน จากการที่สินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญแรงกดดันในระยะสั้น และปรับสัดส่วนการลงทุนหุ้นทั่วโลกลดลง อยู่ที่ Neutral

ปัจจัยที่ 2 คือ สหรัฐฯ เตรียมเผยความคืบหน้าการทางการคลัง แต่อาจไม่สามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มาจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าได้ เนื่องจาก ภาษีนำเข้า จะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชัดขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2568 ในขณะที่ การผ่านร่างงบประมาณ ถึงแม้จะมีความคืบหน้า โดยสภาครองเกรส เริ่มใช้กระบวนการที่ทำให้ผ่านกฎหมายได้ด้วยการใช้คะแนนเสียงในวุฒิสภาสหรัฐฯ เพียง 51 เสียง แทนที่จะใช้ 60 เสียงตามปกติ และสหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังภายในปีนี้ ได้แก่ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 15% สำหรับผู้ผลิตในสหรัฐฯ การขยายเพดานหักลดหย่อนภาษีท้องถิ่นและมลรัฐ การยกเว้นภาษีทิปและค่าล่วงเวลา และการขยายเครดิตภาษีเกี่ยวกับเด็ก อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการทางการคลังอยู่ และการผ่านร่างงบประมาณ อาจเกิดขึ้นล่าช้าไปจนช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2568

ปัจจัยสุดท้าย คือ กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในปี 2568 มีความเสี่ยงถูกปรับประมาณการลดลง จากประเด็นสงครามการค้าที่กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระทบการใช้จ่ายผู้บริโภค ภาวะทางการเงิน รวมถึง การตัดสินใจลงทุนและจ้างงาน อย่างไรก็ดี ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่กำลังทยอยประกาศออกมา อาจยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากสงครามการค้ามากนัก โดยผลสำรวจนักวิเคราะห์สถาบันต่างๆ คาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรก ของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุด 6 อันดับแรกในดัชนี S&P500 ได้แก่ Microsoft, Apple, Meta, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Amazon และ Nvidia จะขยายตัว +17.4%YoY ขณะที่ บริษัทโดยรวมที่ประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ยังรายงานกำไรต่อหุ้น ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

นายศรชัย กล่าวว่า SCB CIO มีมุมมองที่สอดคล้องกับ BlackRock โดยมองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะยังคงเป็นสินทรัพย์ผู้นำในโลกในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง และอาจมีนโยบายเชิงบวกด้านอื่นเกิดขึ้น เช่น การลดภาษีเงินได้ และการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบ เป็นต้น ขณะที่ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ จะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน ตามอัตราที่ถูกเรียกเก็บ

ทั้งนี้ SCB CIO ไม่แนะนำการลงทุนบนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว มีแนวโน้มผันผวนสูง โดยได้รับผลกระทบจากความกังวลบนประเด็นการขาดดุลการคลังและแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยแนะนำให้เน้นลงทุนใน หุ้นกู้คุณภาพดี ระยะสั้น-กลาง ของทั้งสหรัฐฯ และไทย เพื่อสร้างรายได้ และลงทุนในทองคำ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต นอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนผ่านกองทุนผสม ที่มีผู้เชี่ยวชาญปรับพอร์ตลงทุนได้ ขณะที่ SCB CIO ยังคงติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้น การเจรจามีแนวโน้มเป็นไปได้ด้วยดี ก็พร้อมแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้อีกครั้ง

หมายเหตุ : เอกสารนี้จัดทำโดย SCB CIO โดยอ้างอิงจาก บทวิเคราะห์รายเดือน ซึ่งเผยแพร่ ณ วันที่ 22 เม.ย. 2568 โดยข้อคิดเห็นและบทความในเอกสารฉบับนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ผู้ใช้ข้อมูลนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณของตนเอง และรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยตนเอง

Link บทวิเคราะห์ https://www.scb.co.th/getmedia/b96b9867-6e5c-4102-8b3c-bda08eff96d6/2025-cio-blackrock-april.pdf