Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

TISCO ESU ฟันธงกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% รับมือสงครามการค้า

TISCO ESU ฟันธงกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% รับมือสงครามการค้า
1
เขียนโดย intrend online 2025-04-29

29 เม.ย.68 - ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาด กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมรอบวันที่ 30 เม.ย.นี้ และครึ่งหลังมีแนวโน้มปรับลดอีก 1 ครั้ง เพื่อรับมือสงครามการค้า และเศรษฐกิจที่อาจโตต่ำเพียง 1.5%

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) (Mr. Methas Rattanasorn, Senior Economist, TISCO Economic Strategy Unit) เปิดเผยว่า TISCO ESU คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งที่ 2 ของปีในวันที่ 30 เมษายน 2568 จากความไม่แน่นอนของนโยบายสงครามการค้าสหรัฐฯ ที่ส่งผลกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งอัตรากำแพงภาษีที่ไทยถูกตั้งก็สูงกว่าคาดมาก ทั้งนี้ คาดว่า กนง. จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ลงมาอยู่ที่ราว 2% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อน และต่ำกว่าตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้

ในระยะถัดไป TISCO ESU ประเมินว่า กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมาก แต่จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้องคำนึงถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) โดยคาดว่าอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมเดือนสิงหาคม 2568 สู่ระดับ 1.50% ในปี 2568

ด้านค่าเงินบาท ค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงมากว่า 8% (YTD) ซึ่ง TISCO ESU ประเมินว่า อาจเห็นค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าแตะระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกก็ตาม

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจ TISCO ESU ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มาอยู่ที่ 2.1% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% และมองว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้เพียง 1.5% เท่านั้น หากอัตราภาษีไม่ลดลงจากระดับ 36% ที่ประกาศไว้ในวันปลดแอกของสหรัฐฯ (Liberation Day) ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการดังกล่าวสะท้อนถึงผลกระทบของสงครามการค้าซึ่งรุนแรงกว่าที่คาดไว้มาก แม้ว่าจะมีระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันสำหรับการเจรจา แต่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าผลการเจรจา จะนำไปสู่การลดอัตราภาษีลงได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีผลกระทบกับความสัมพันธ์กับคู่ค้ารายอื่น โดยเฉพาะจีน ซึ่งได้แสดงท่าทีเตรียมตอบโต้ประเทศที่จะตกลงกับสหรัฐฯ ในลักษณะที่กระทบกับผลประโยชน์ของจีน

นายเมธัส กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี จากการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับเลขสองหลัก ส่วนทิศทางการลงทุนภาคเอกชน คาดว่านักลงทุนจะชะลอการตัดสินใจออกไป หรือในกรณีย่ำแย่บางส่วนอาจถึงขั้นล้มแผนการลงทุน นอกจากนี้ อาจเห็นสัญญาณการปิดกิจการและการเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จากกำลังการผลิตส่วนเกินของสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนให้ซบเซาลง อีกทั้งภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงจะส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคและเพิ่มการออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การหมุนเวียนของเงิน (Money Velocity) ชะลอตัว และเสี่ยงเกิดเป็น Negative Feedback Loop ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึมลงไปเรื่อย ๆ อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิผลของนโยบายการเงินลดลงด้วย

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะมีวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในงบกลางกว่า 1.5 แสนล้านบาท และมีการเปิดเผยถึงแผนการกู้เพิ่มเติมอีกราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แต่อาจจำเป็นจะต้องปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปสูงกว่าปัจจุบันที่ตั้งไว้ 70% โดย TISCO ESU ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจะระยะยาว

“นอกจากแผนรับมือในระยะสั้นแล้ว แผนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาวก็มีความจำเป็นอย่างมาก ทั้งการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SMEs การปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษา และการปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี (Tech Adoption) เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศให้พร้อมรับมือกับการค้าโลกยุคใหม่ที่จะเปลี่ยนไปสู่ De-globalization แบบ Multi-polar หรือการค้าโลกที่จะแบ่ง Supply Chain ออกเป็นหลายขั้ว และตัดสายอุปทานให้สั้นลง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Super aged society) ในอีก 5 ปีข้างหน้าอีกด้วย” นายเมธัส กล่าว